ข่าวสาร M-CAB
UPDATE: พบผู้ป่วยรายที่ 4 ของโลกหายจาก HIV หลังปลูกถ่ายไขกระดูก
UPDATE: พบผู้ป่วยรายที่ 4 ของโลกหายจาก HIV หลังปลูกถ่ายไขกระดูก
แพทย์ยืนยันว่า ชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV มากว่า 30 ปี อาจได้รับการรักษาจนหายแล้ว ซึ่งนับเป็นรายที่ 4 ของโลกที่รักษาจนสำเร็จ
.
ชายวัย 66 ปี ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาได้รับบริจาคไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มียีนดื้อต่อไวรัส HIV โดยธรรมชาติ ส่งผลให้ปัจจุบันชายผู้นี้ไม่พบไวรัสในร่างกายอีกต่อไป และหยุดกินยาต้านไวรัสแล้ว
.
เขากล่าวในแถลงการณ์ว่า “เมื่อผมได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV ในปี 1988 ผมก็เหมือนกับคนอื่นๆ อีกหลายคน ผมคิดว่ามันคือโทษประหาร ผมไม่เคยคิดว่าจะมีชีวิตอยู่มาจนได้เห็นวันที่ไม่มีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกายผมอีกต่อไปแล้ว”
.
HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมถึงโรคเอดส์ (AIDS) เพื่อนของเขาหลายคนเสียชีวิตจากเชื้อ HIV ในยุคนั้น ก่อนที่ยาต้านไวรัสจะทำให้ผู้ป่วยมีอายุขัยใกล้เคียงปกติ
.
ชายคนนี้เป็นที่รู้จักในนามผู้ป่วย ‘City of Hope’ ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งครบวงจรในเมืองดูอาร์เต รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเขาเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่นี่
.
ทีมแพทย์ตัดสินใจว่าเขาจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อทดแทนเซลล์เม็ดเลือดที่เป็นมะเร็ง และเป็นเรื่องบังเอิญที่ไขกระดูกจากผู้บริจาคต้านทาน HIV ได้
.
ผู้ป่วย City of Hope ได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดหลังการปลูกถ่าย และตอนนี้เขาอยู่ในระยะโรคสงบ (Remission) มานานกว่า 17 เดือนแล้ว
.
“เราตื่นเต้นมากที่ได้แจ้งให้เขาทราบว่า HIV ของเขาอยู่ในระยะสงบ และเขาไม่ต้องรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่เขาใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว” ดร.จานา ดิกเตอร์ แพทย์โรคติดเชื้อที่ City of Hope กล่าว
.
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2011 ทิโมธี เรย์ บราวน์ หรือที่รู้จักในชื่อผู้ป่วยเบอร์ลิน (Berlin Patient) กลายเป็นบุคคลแรกในโลกที่ได้รับการรักษาให้หายขาดจากเชื้อ HIV ก่อนที่จะพบผู้ป่วยหายจาก HIV อีก 3 รายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ป่วย City of Hope นับเป็นผู้ป่วยอายุมากที่สุดที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ และเป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV มานานที่สุดใน 4 ราย
.
อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไขกระดูกไม่ใช่การปฏิวัติวิธีการรักษา HIV สำหรับผู้ติดเชื้อ 38 ล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ HIV
.
ศ.ชารอน เลอวิน ประธานสมาคมโรคเอดส์ระหว่างประเทศ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีล่าสุดนี้ว่า การรักษาผู้ป่วยให้หายยังคงเป็นเป้าหมายสูงสุดของการวิจัย HIV
.
เธอกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายอยู่หยิบมือหนึ่ง พวกเขายังคงเป็นความหวังสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV และเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการวิทยาศาสตร์”