ประเทศไทยกลับมาเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สาธารณชนแทบไม่ค่อยได้รับรู้มากนักคือเรื่องของตัวเลขอาร์ (R) ตัวเลขนี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อการวางมาตรการควบคุมโรค

ตัวเลขอาร์ คืออะไร

อาร์มาจากคำว่า Reproduction ซึ่งหมายถึงการขยายเชื้อ ตัวเลขอาร์เป็นวิธีการวัด ความสามารถในการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

อาร์ คือจำนวนคนที่ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่เชื้อต่อให้กับคนอื่น ๆ เฉลี่ยกี่คน

ยกตัวอย่าง โรคหัด มีตัวเลขอาร์ที่ 15 ในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน นั่นหมายความว่า เฉลี่ยแล้ว ผู้ติดเชื้อโรคหัด 1 คนจะแพร่เชื้อให้คนอื่น ๆ ต่อ 15 คน

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกันในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซาร์ส-โคฟ-2 (Sars-CoV-2) จะมีตัวเลขการแพร่เชื้อต่ออยู่ที่ประมาณ 3 หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค

คำนวณตัวเลขอาร์อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลอย่างจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้ที่ถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19 ในช่วงเวลาหนึ่ง ในการประเมินว่า ไวรัสนี้มีการแพร่กระจายได้ง่ายดายแค่ไหน

โควิด-19 : ทำไมโรคนี้จึงติดต่อกันได้ง่าย

ทำไมตัวเลขอาร์ที่สูงกว่า 1 จึงอันตราย

ถ้าอัตราการขยายเชื้อสูงกว่า 1 จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าตัวเลขนี้ต่ำลง การแพร่ระบาดก็จะยุติลงในที่สุด เพราะมีคนติดเชื้อรายใหม่จำนวนไม่เพียงพอในการทำให้การระบาดของโรคดำเนินต่อไป

รัฐบาลทุกประเทศต้องการที่จะทำให้ตัวเลขอาร์ต่ำลงมาจากระดับ 3 (ซึ่งเป็นตัวเลขอาร์ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการใด ๆ) ให้ลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 1

ตัวเลขอาร์เปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตัวเลขอาร์ไม่ได้อยู่คงที่ แต่มันเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนเราหรือภูมิคุ้มกันที่พัฒนาขึ้น

นักคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พยายามที่จะแกะรอยตัวเลขนี้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในช่วงที่มีการกักตัว การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020

ก่อนที่จะมีมาตรการใด ๆ เกิดขึ้น ตัวเลขอาร์ในสหราชอาณาจักรอยู่ที่สูงกว่า 1 และสภาพแวดล้อมสุกงอมจนทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีการบังคับใช้ต่อเนื่องทำให้ตัวเลขนี้ลดต่ำลง แต่มันก็ยังไม่ต่ำกว่า 1 จนกระทั่งเกิดการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบขึ้น

ตัวเลขนี้สำคัญที่สุดหรือไม่

ตัวเลขอาร์เป็นหนึ่งในตัวเลขที่สำคัญ 3 ตัว อีก 2 ตัวคือ ตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง บางคนมีอาการป่วยเล็กน้อยที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา แต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อนี้ อาจจะมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

อีกตัวเลขหนึ่งคือ จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความสำคัญในการตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เมื่อใดถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อจำกัดยังไม่เข้มงวด และตัวเลขอาร์อยู่ที่ประมาณ 1 ก็จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วัคซีนช่วยได้อย่างไร

โครงการฉีดวัคซีนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและหลาย ๆ ประเทศ ในขณะนี้ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวเลขอาร์ลดต่ำลง

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีผู้รับเชื้อต่อ 3 คน แต่ถ้าวัคซีนสามารถปกป้องคน 2 ใน 3 คนนี้จากการติดเชื้อได้ ตัวเลขการแพร่เชื้อต่อก็จะลดลงจาก 3 เป็น 1

ตัวเลขอาร์ในไทยอยู่ที่เท่าไร

ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อ 17 เม.ย. ว่า “ประเทศไทยผงาดเป็นแชมป์โลก Reproduction Rate – R สูงสุด” และระบุว่า ในขณะที่ อัตราการขยายเชื้อโควิด-19 ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประเทศไทยกลับมีค่าอาร์ ทะยานขึ้นจนถือเป็น “แชมป์โลก” มีค่าอาร์ (ของวันที่ 13 เม.ย. 2021) = 2.27 ทิ้งอันดับ 2 คือซูรินาม ที่มีค่าอาร์ = 1.79 ค่อนข้างห่าง โดยที่ค่าอาร์เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 1.17 โดยในโพสต์ได้แนบภาพประกอบที่ระบุว่านำมาจากเว็บไซต์ Our World in Data

บีบีซีไทย ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลล่าสุดของไทยเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ปรากฏว่า ค่าอาร์ของไทยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. อยู่ที่ 1.70 ลดลงจากเมื่อวันที่ 16 เม.ย. อยู่ที่ 2.28 อย่างไรก็ดี ค่าอาร์ที่สูงกว่า 1 ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพึงพอใจ

ภาพแคปหน้าจอเว็บไซต์

ที่มาของภาพ,OURWORLDINDATA.ORG

ค่าอาร์ของไทยเมื่อ 16 เม.ย. อยู่ที่ 2.28

นอกจากนี้ ศ.วรศักดิ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการรวมถึง ระบุว่า “ด้วย R = 2.27 หมายความว่า คนไทยติดเชื้อหนึ่งคนจะสามารถแพร่ต่อไปให้อีก 2.27 คน ถ้าประเทศไทยไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ในช่วง 30 วันจากนี้ไป ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก้าวกระโดดไปถึง 136,821 คนต่อวัน”

ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ ได้เสนอแนะรัฐบาลว่า “ทางออกทางเดียว คือ รัฐบาลต้องรีบระดมให้มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศตามลำดับความสุ่มเสี่ยง โดยถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ก่อนที่จะสายไป”

คนเดินบนทางเท้าแต่ละคนมีวงกลมล้อมรอบ เป็นสัญลักษณ์ของการแพร่โควิด

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่าในทางระบาดวิทยาต้องควบคุมสถานการณ์ให้ค่า R น้อยกว่า 1 ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ค่า R ของไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ “2 กว่า ๆ” ในช่วงแรกของการระบาดระลอกใหม่เมื่อวันที่ 4-8 เม.ย. แต่หลังจากมีการปิดสถานบันเทิงและออกมาตรการต่าง ๆ ค่า R ได้ลดลงมาอยู่ที่ 1.6