โควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 185 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 4 ล้านคน นับแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้มันเป็นการระบาดใหญ่ แม้คนทั่วโลกหวังว่าวัคซีนต้านโควิดจะช่วยนำพาโลกกลับสู่ความปกติ และคลี่คลายมาตรการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา แต่นักวิทยาศาสตร์กลับเริ่มเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดนี้จะยังคงอยู่กับเราต่อไป

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา “เนเจอร์” (Nature) วารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ได้ถามความเห็นนักภูมิคุ้มกันวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกว่า 100 คนทั่วโลกว่า เชื้อ Sars-Cov-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 จะถูกขจัดให้หมดสิ้นไปจากโลกได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าเกือบ 90% ของผู้ตอบคำถามระบุว่า “ไม่ได้” โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) และจะยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของโลกต่อไป

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการที่มนุษย์ต่อสู้กับโรคร้ายต่าง ๆ แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้มีความท้าทายที่มีความเฉพาะตัว แล้วนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าพวกเราจะต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกับมันต่อไปในอนาคตไว้อย่างไร

ทำไมเราจึงไม่สามารถขจัดโควิดให้หมดสิ้นไปตั้งแต่แรก

Historic picture of a child with measles

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES โรคหัดเป็นกรณีที่พบได้ยากของโรคติดเชื้อไวรัสที่ถูกประกาศว่าถูกขจัดหมดไปจากโลกแล้ว แต่ได้กลับมาระบาดใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การกำจัดโรคติดเชื้อให้หมดไปไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อันที่จริง WHO เคยประกาศว่าโลกสามารถขจัดเชื้อไวรัสให้หมดสิ้นไปได้เพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ ไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (smallpox) และโรครินเดอร์เปสต์ (rinderpest) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสในปศุสัตว์

มีเพียงไข้ทรพิษเท่านั้นที่มีความร้ายแรงเทียบเท่ากับโควิด-19 ในแง่ของการแพร่กระจายตามเขตภูมิศาสตร์ และการติดต่อไปถึงประชากร

ไข้ทรพิษ เป็นโรคโบราณที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่หลายครั้งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และคร่าชีวิตของผู้คนไปถึง 500 ล้านคนในช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะถูกขจัดจนหมดไปในช่วงทศวรรษที่ 1980

สภาพการณ์ที่เหมาะสมช่วยให้ไข้ทรพิษถูกขจัดไปจากโลกได้สำเร็จ โดยปัจจัยสำคัญคือการพัฒนาวัคซีนที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ

แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปัจจุบันจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบเดียวกัน

ศาสตราจารย์ เดวิด เฮย์แมนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “วัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ (โควิด-19) ได้ พวกมันแค่ช่วยลดการติดเชื้อ และทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง คนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นได้”

ศาสตราจารย์ พอล ฮันเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ในอังกฤษ มองในระยะยาวว่า วัคซีนเหล่านี้จะไม่สามารถช่วยป้องกันเราจากการติดโควิดได้ในอนาคต

“โควิดจะไม่หายไปจากโลก” เขาคาดการณ์

“เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราจะติดมันซ้ำ ๆ ไปตลอดชีวิต ไม่ว่าเราจะได้รับวัคซีนหรือไม่”

จะเกิดอะไรขึ้นกับเชื้อโรคโควิด

Model of a Sars-CoV-2 virus

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES โควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นแบบไข้หวัดใหญ่

ศาสตราจารย์เฮย์แมนน์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เชื่อว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหมายความว่ามันจะยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของโลกต่อไปอีกหลายปี

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสโคโรนา 4 ชนิดที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดานั้นต่างก็เป็นโรคประจำถิ่น โดย WHO คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ราว 290,000 – 650,000 คน

แต่โรคเหล่านี้ได้กลายเป็นโรคที่มนุษย์สามารถจัดการได้ และมียอดผู้เสียชีวิตที่คาดการณ์ได้

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า นี่จะเป็นกรณีเดียวกันสำหรับโควิด-19 ที่เชื้อจะยังแพร่กระจายอยู่ แต่คนเราจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้ได้ จากการได้รับวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ ดังนั้นกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงจะค่อย ๆ ลดลง เช่นเดียวกับอัตราการเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตก็จะไม่สูงเท่ากับที่ผ่านมา

แต่ปัญหาตอนนี้คือเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าเชื้อโรคโควิดจะมีพฤติกรรมแบบเดียวกันหรือไม่ ซึ่งศาสตราจารย์เฮย์แมนน์ระบุว่า มันเป็นเชื้อที่ “มีความผันแปรมาก”

“เมื่อไวรัสชนิดนี้เพิ่มจำนวนในเซลล์มนุษย์ มันจะเกิดการกลายพันธุ์เป็นระยะ และการกลายพันธุ์บางอย่างก็น่ากังวล” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อรายนี้กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นระบุว่า ปัจจัยอื่นอาจทำให้โควิด-19 น่ากังวลน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยชี้ว่า ไวรัสชนิดนี้อาจมีศักยภาพก่อโรค (ความร้ายแรง) ลดลงจากการกลายพันธุ์ หรือจากการที่ประชากรโลกส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน

เราต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่

Vials of Covid-19 vaccine

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนต้านโควิดจะช่วยให้ร่างกายคนเรามีภูมิคุ้มกันได้นานเพียงใด

เชื้อไวรัสมี “ภารกิจ” ในการแพร่เชื้อไปสู่คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ศาสตราจารย์ทรูดี แลง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพโลกจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า “จากมุมมองเชิงวิวัฒนาการ ไวรัสชนิดนี้จำเป็นต้องมีการกลายพันธุ์เพื่อให้สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้คนได้มากขึ้น ไวรัสที่ประสบความสำเร็จคือเชื้อที่แพร่ระบาดไปได้ง่ายขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยมาก จึงทำให้เครือข่ายหน่วยงานสาธารณสุขโลกต้องทบทวนองค์ประกอบของวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคบาดทะยัก ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต

อย่างที่เราทราบกันว่าในปัจจุบันมีเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลมากที่สุดอยู่ 4 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ สายพันธุ์เดลตา ที่มีอัตราการแพร่เชื้อสูง โดยหลังจากตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย ก็พบว่าเชื้อชนิดนี้เป็นตัวการที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิดในยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น

สถิติบ่งชี้ว่าวัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อสายพันธุ์เดลตา โดยข้อมูลล่าสุดของสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) แสดงให้เห็นว่า 82% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้และป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลระหว่างเดือน ก.พ. – มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด หรือได้รับการฉีดไปเพียง 1 โดส

สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษ ได้เริ่มวางแผนที่จะฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชนกว่า 30 ล้านคนในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวนี้

ในสหรัฐฯ สถาบันสุขภาพแห่งชาติได้เริ่มการทดลองทางคลินิกแก่ผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบทั้งสองโดส เพื่อศึกษาว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิจะช่วยเพิ่มแอนติบอดีในร่างกาย และทำให้มีภูมิต้านทานอยู่ได้นานขึ้นหรือไม่

ศาสตราจารย์เฮย์แมนน์บอกว่า “ยังไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องได้รับวัคซีนเพิ่มหรือไม่”

ล็อกดาวน์จะกลายเป็นเรื่องปกติไหม

Two Bangladeshi children hold food parcels given away during the country's most recent lockdown

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES หลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ซ้ำเพื่อสกัดการระบาดของโควิด

ปัจจุบันหลายประเทศได้นำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ซ้ำเมื่ออัตราการติดเชื้อและการเข้าโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น

แม้มาตรการเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรค และบรรเทาแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขได้ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การล็อกดาวน์จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในอนาคตหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของโครงการให้วัคซีนของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยลดอัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล

รองศาสตราจารย์นิโคลัส โธมัส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพจากมหาวิทยาลัยซิตี ฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “…การล็อกดาวน์กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหาโรคระบาด”

เราต้องสวมหน้ากากต่อไปหรือเปล่า

A woman and a child walk the promenade in Long Beach, California while a discarded face mask can be seen on the floor

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าหน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันโควิดระบาดได้

แม้เรื่องการบังคับสวมหน้ากากอนามัยจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในหลายประเทศ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงสนับสนุนการใช้หน้ากากเพื่อควบคุมการระบาดของโรคแม้ในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง

ดร.คริสตินา กราเวิร์ต นักวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในเดนมาร์ก กล่าวว่า “เป็นเรื่องชัดเจนว่าเราไม่สามารถใช้มาตรการล็อกดาวน์ได้ทุกครั้งที่โรคระบาดรุนแรงขึ้น”

“แต่มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะแนะนำให้ประชาชนที่รู้สึกป่วยหลีกเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และให้ทำงานอยู่กับบ้าน หรืออย่างน้อยให้พวกเขาสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น”

แม้หลายฝ่ายจะมองว่ารัฐบาลควรสนับสนุนการสวมหน้ากากในอาคารสาธารณะ แต่บางคนเชื่อว่าเรื่องนี้ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล และบางคนอาจเลือกสวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงถึงความมีมารยาทตามปกติ โดยเฉพาะในรถโดยสารสาธารณะ หรือในบริเวณที่มีคนหนาแน่น

การเดินทางระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร

EU Digital Covid certificate on a phone screen

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES อียูเริ่มใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ แล้ว

ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเลือกระหว่างความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการปิดพรมแดนไม่รับผู้ที่เดินทางโดยไม่มีเหตุผลจำเป็น กับความต้องการปกป้องประชาชนจากเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เฮย์แมนน์บอกว่า ความไม่ร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพในเรื่องกระจายวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ในโลกนั้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ

“การไม่กระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม ทำให้ WHO ไม่แนะนำให้ใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ แต่ผมคาดว่าบางประเทศจะเริ่มใช้มัน” เขากล่าว

“มันเป็นเรื่องไม่ถูกจริยธรรมแน่นอนที่จะใช้การรับรองการฉีดวัคซีน หากผู้คนไม่สามารถเดินทางได้เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนหรือมีเหตุผลที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้” ศาสตราจารย์เฮย์แมนน์ระบุ

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้เริ่มใช้ระบบรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อให้พลเมืองและผู้พำนักอยู่สามารถเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มได้โดยไม่ต้องเผชิญมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว มีผลการตรวจโควิดเป็นลบ หรือเพิ่งหายป่วยจากโควิด

แต่นี่ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไปว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกจะจัดการเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศอย่างไร

จะมีความเท่าเทียมทางวัคซีนเกิดขึ้นไหม

A woman being vaccinated in rural Kenya

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES ผู้เชี่ยวชาญชี้ “ความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน” เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ

จนถึงวันที่ 5 ก.ค. มีคนทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด หรือไม่ถึง 15% ของประชากรโลก

นอกจากปัญหาด้านมนุษยธรรมแล้ว “ความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน” ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ ขึ้น

โดยในจดหมายเปิดผนึกของคณะผู้บริหาร WHO, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้เตือนว่า ความขาดแคลนวัคซีนในประเทศยากจนจะสร้างสภาพแวดล้อมให้มีการอุบัติของเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ ขึ้น

ในที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือ จี 7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) ได้ให้คำมั่นจะจัดสรรวัคซีนต้านโควิด 1 พันล้านโดสให้แก่กลุ่มประเทศยากจน

แต่นั่นยังถือว่าห่างไกลจากจำนวนที่ WHO คาดไว้ว่าจะต้องได้วัคซีน 11,000 ล้านโดสเพื่อให้ครอบคลุมประชากรในประเทศยากจนของโลกทั้งหมด และการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมคนทั้งโลกจะเป็นกุญแจสำคัญในการขยายภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคตตามที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายคาดการณ์ไว้

ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากสัตว์

Mink in a cage

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES นักวิทยาศาสตร์ในเดนมาร์กพบหลักฐานการแพร่เชื้อโควิดจากตัวมิงค์มาสู่คน

การต่อสู้กับเชื้อ Sars-CoV-2 ยังขึ้นอยู่กับว่าเชื้อไวรัสจะมีพฤติกรรมอย่างไรในสัตว์ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเชื้อไวรัสโคโรนามีต้นกำเนิดจากค้างคาว แล้วอาจแพร่สู่มนุษย์ผ่านสัตว์ตัวกลางชนิดหนึ่ง

งานวิจัยหลายชิ้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่า แมว กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวมิงค์ สามารถติดเชื้อโรคโควิดได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ในเดนมาร์กพบหลักฐานการแพร่เชื้อจากตัวมิงค์มาสู่คน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตราบใดที่ยังมีสัตว์ในธรรมชาติที่สามารถติดเชื้อโรคโควิดได้ ก็ยังมีความเสี่ยงว่าพวกมันอาจแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ได้

อ้างอิง : https://www.bbc.com/thai/international-57887146