KEY MESSAGES: เอชไอวี หายขาดได้? ความหวังจากกรณี ‘ผู้ป่วยนิวยอร์ก’
.
โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาให้ร่างกายแข็งแรงได้ คำกล่าวนี้อาจไม่จริงเสมอไป
.
เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าว ‘ผู้ป่วยนิวยอร์ก’ (New York Patient) เป็นผู้หญิงรายแรกที่อาจหายขาดจากโรคนี้ โดยเธอป่วยเป็นมะเร็งเลือดขาวหลังจากติดเชื้อ จึงได้รับการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือรก ต่อมาสามารถหยุดยาต้านไวรัส และตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสมา 1 ปี
.
นับเป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 3 ของโลกต่อจาก ‘ผู้ป่วยเบอร์ลิน’ (Berlin Patient) ในปี 2008 และ ‘ผู้ป่วยลอนดอน’ (London Patient) ในปี 2019 เป็นความก้าวหน้าในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ระบาดมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หรือ 50 ปีที่ผ่านมา
.
ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อประมาณ 38 ล้านคนทั่วโลก ถึงแม้จะสามารถรักษาให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนคนทั่วไป แต่ยังต้องรับประทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต
.
ผู้ป่วยนิวยอร์กเป็นความหวังสำหรับผู้ติดเชื้อรายอื่นมากน้อยแค่ไหน
.
🚩 ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยนิวยอร์ก
ข่าวความก้าวหน้าครั้งสำคัญนี้มาจากงานประชุมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและเชื้อฉวยโอกาส (Conference on Retroviruses and Opportunitistic Infections: CROI) ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ผู้ป่วยหญิงวัยกลางคนรายหนึ่งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล Weill Cornell Medicine รัฐนิวยอร์ก จนตรวจไม่พบการติดเชื้อ
.
เนื่องจากต้องการปกปิดชื่อเพื่อความเป็นส่วนตัว เธอจึงถูกเรียกว่า ‘ผู้ป่วยนิวยอร์ก’ ตามชื่อเมืองที่รักษาเหมือนกับผู้ป่วยที่รักษาหายก่อนหน้านี้ (แต่มักเปิดเผยชื่อในภายหลัง)
.
▪️ มิถุนายน 2013 ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และรับประทานยาต้านไวรัสจนสามารถกดปริมาณไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำ
.
▪️ มีนาคม 2017 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด AML (Acute myelogenous leukemia)
.
▪️ สิงหาคม 2017 ได้รับการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือรก (Cord blood transplant) จากผู้บริจาคที่มียีนต้านการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เธอใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 17 วัน โดยไม่มีภาวะเซลล์ของผู้บริจาคทำปฏิกิริยาต่อเซลล์ผู้ป่วย (Graft versus host disease) ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหลังจากการปลูกถ่าย
.
ทั้งนี้ในระหว่างรอการปลูกถ่ายสำเร็จ 6 สัปดาห์ เธอยังได้รับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Blood stem cell) จากญาติสายตรง
.
Dr. Marshall Glesby ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในการวิจัยครั้งนี้ อธิบายว่าเซลล์เม็ดเลือดจากญาติ ซึ่งมีความเข้ากันได้ครึ่งหนึ่ง ช่วยพยุงระบบภูมิคุ้มกันจนกระทั่งเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือทำงานได้เต็มที่ ทำให้การปลูกถ่ายมีความปลอดภัยมากขึ้น
.
▪️ กันยายน 2020 ผู้ป่วยตัดสินใจหยุดยาต้านไวรัสหลังจากปลูกถ่ายเลือด 37 เดือน และปัจจุบันเป็นระยะเวลา 14 เดือนที่เธอตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี รวมถึงตรวจไม่พบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสด้วย นับเป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 3 ของโลกที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
.
🚩 ทำไมถึงรักษาหายขาดได้
ความเหมือนกันระหว่างผู้ป่วยนิวยอร์กและอีก 2 รายก่อนหน้า คือ เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเกี่ยวกับระบบเลือด (ผู้ป่วยเบอร์ลินเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด AML เหมือนกัน ส่วนผู้ป่วยลอนดอนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง) จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
.
ซึ่งเปรียบเสมือนการรื้อ ‘โรงงานผลิตเม็ดเลือด’ เดิมทิ้ง แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
.
ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งและเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดในไขกระดูก จากนั้นจะได้รับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทางหลอดเลือดดำ พร้อมกับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เซลล์ผู้ป่วยยอมรับเซลล์ของผู้บริจาคเข้ามาในไขกระดูกโดยไม่ต่อต้าน ระหว่างนี้ผู้ป่วยจะมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำมากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส แต่โดยปกติโรงงานใหม่จะเริ่มผลิตเม็ดเลือดได้เต็มที่ภายใน 2-3 สัปดาห์
.
ในขณะที่ไวรัสเอชไอวีมีเป้าหมายหลักเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะรับประทานยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พบไวรัสในเลือด และมีระดับ CD4 อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไวรัสจะยังแฝงอยู่ในเม็ดเลือดขาวหรือระบบต่อมน้ำเหลืองในร่างกาย หากหยุดยาต้านไวรัส ไวรัสก็จะกลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้ง
.
ตรงกันข้ามในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดจะถูกทำลาย รวมถึงเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแฝงอยู่ วิธีนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งของการรักษาโรคนี้ให้หายขาด
.
แต่จะต้องมีอีกหนึ่งปัจจัยร่วมด้วย นั่นคือ ผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดต้องมียีนต้านการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีด้วย หรือการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า CCR5-delta 32
.
โดย CCR5 เป็นโปรตีนตัวรับ (Receptor) บนผิวเซลล์เม็ดเลือดขาว เปรียบเสมือน ‘แม่กุญแจ’ ที่คล้องประตูรั้วอยู่ ส่วนไวรัสมี ‘ลูกกุญแจ’ ที่สามารถไขเปิดเข้ามาได้ เมื่อมีการกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสเปิดประตูไม่ได้ ผู้มียีนนี้จึงสามารถต้านการติดเชื้อได้นั่นเอง ซึ่งในผู้บริจาค 20,000 คน จะพบเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป
.
เมื่อโรงงานเก่าซึ่งมีไวรัสเอชไอวีแฝงอยู่ถูกทำลาย ส่วนโรงงานใหม่มีประตูที่ไวรัสเอชไอวีไขเปิดเข้ามาไม่ได้ ผู้ป่วยจึงสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้
.
นอกจากนี้ยังมีสมมติฐานว่าภาวะ Graft versus host disease ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยหลังจากปลูกถ่าย อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อ โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจากโรงงานใหม่เห็นเซลล์เก่าเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงถูกจับกินในที่สุด แต่เนื่องจากผู้ป่วยนิวยอร์กไม่พบภาวะแทรกซ้อนนี้ สมมติฐานนี้จึงอาจตกไป
.
ส่วนการใช้เลือดจากสายสะดือรกก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ ทว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าทำไมเซลล์จากสายสะดือรกถึงทำงานได้ดี
.
Dr. Koen Van Besien หัวหน้าโครงการปลูกถ่าย โรงพยาบาล Weill Cornell Medicine กล่าวว่า เซลล์จากสายสะดือรกน่าจะมีองค์ประกอบนอกเหนือจากเซลล์ต้นกำเนิดอื่นที่ช่วยในการปลูกถ่าย โดยมีความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมใหม่มากกว่า
.
🚩 ความหวังของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก
ข่าวผู้ป่วยนิวยอร์กน่าจะเป็นความหวังของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีทั่วโลก เพราะเดิมโรคนี้รักษาไม่หายขาด ต้องรับประทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต ประกอบกับ “ความจริงที่ว่าผู้ป่วยเป็นลูกครึ่งและเป็นผู้หญิงรายแรกที่รักษาหาย ทำให้มีความสำคัญในทางวิทยาศาสตร์และการขยายผลการวิจัยในวงกว้าง” Dr. Steven Deeks ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอดส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว
.
แต่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะเป็นวิธีการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง และมักจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว
.
หากจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ จะต้องมีผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิด ต้องตรวจสอบความเข้ากันได้ของโปรตีนบนผิวเซลล์ระหว่างผู้บริจาคกับผู้ป่วย และอาศัยทีมบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขาเข้ามาดูแล
.
อย่างไรก็ตามกรณีของผู้ป่วยนิวยอร์กทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เข้าใจการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มียีน CCR5-delta 32 ซึ่งต้านการติดเชื้อไวรัสนี้ และมนุษย์ก็เข้าใกล้การรักษาโรคนี้ให้หายขาดอีกก้าวใหญ่ก้าวหนึ่ง
.
อ้างอิง:
A Woman Is Cured of H.I.V. Using a Novel Treatment https://www.nytimes.com/…/15/health/hiv-cure-cord-blood.html
Patient Possibly Cured of HIV Infection by Special Stem-Cell Transplant https://news.weill.cornell.edu/…/patient-possibly-cured-of-…
HIV Resistant Mutation https://www.nature.com/…/blog/virus…/hiv_resistant_mutation/
Persistence of HIV in Gut-Associated Lymphoid Tissue despite Long-Term Antiretroviral Therapy https://academic.oup.com/jid/article/197/5/714/837617
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต https://www.rama.mahidol.ac.th/…/files/…/pdf/Article/BMT.pdf
.
#TheStandardNews #HIV