ข่าวสาร M-CAB
สิทธิแต่กำเนิดไม่(ควร)แบ่งเพศ ฝ่า “ฝัน” รับรองความหลากหลาย ตอน 2
สิทธิแต่กำเนิดไม่(ควร)แบ่งเพศ ฝ่า “ฝัน” รับรองความหลากหลาย ตอน 2
“อนาคต” ของสิทธิความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) กระแสคำถามที่ดังขึ้นต่อเนื่อง และ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” หยิบมาชวนพูดคุย สะท้อนปัญหา เสนอทางออก
ผ่านมุมมอง “กิตตินันท์ ธรมธัช” หรือ แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย หนึ่งในนักเคลื่อนไหวและผลักดันสู่การค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ วันนี้นำเสนอต่อเนื่องในแง่มุมข้อกังวล และข้อกฎหมายที่กำลังปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรองรับสิทธิให้ก้าวหน้าขึ้น
หน้าตากฎหมายฉบับแรก เพื่อคู่รักเพศเดียวกัน
กิตตินันท์ เผยแนวคิดต้องมีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ที่ผ่านมากว่าทศวรรษจึงมีการปรับแก้อยู่เสมอ เช่น นำคำว่า “บุคคลทั้งสอง” มาแทน “ชายหญิง” “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีภรรยา” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม จึงกลายเป็นแนวคิด “สมรสเท่าเทียม” ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้นเสนอแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกิดเป็นแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม กลายเป็นกฎหมาย 2 ฉบับ ถูกขับเคลื่อนตีคู่กันมาคือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ศ. …. และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ….
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดมีการเปรียบเทียบ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ไม่ครบ 100% ขณะที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ ค่อนข้างแน่นอนกว่า ซึ่งต้องยอมรับปัจจุบันสังคมมีทั้งคนที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ และไม่เห็นด้วย ส่วนอีกกลุ่มคนก็เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ มากกว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ
กิตตินันท์ ระบุ ด้วยหน้าตากฎหมายที่เหมือนกัน การโหวตในสภาจะเริ่มเกิดปัญหา สมมุติ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ ผ่าน จะแก้ประมาณ 40 ฉบับ ขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ต้องแก้ 119 ฉบับ ต่างกันเยอะมาก ปัญหาคือเมื่อกฎหมายออกมาแล้วสองฉบับ การโหวตในวาระ 2 ต้องพิจารณารายมาตรา ส่วนในวาระ 3 คือดูทั้งฉบับว่า รับหรือไม่รับ
ทั้งนี้ กังวลเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ ผ่านก็จบ แต่ถ้าไปโหวตให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ผ่าน ถึงแม้เป็นกฎหมายฉบับคล้ายกัน แต่จะเป็น “ดราม่า” ในสังคม เพราะมองเป็นกฎหมายแปลกแยก เช่น ในกรณีบุคคลนั้นเป็นผู้หญิง จะสามารถใช้กฎหมายสองฉบับทั้งแพ่งและพาณิชย์ได้ ส่วนเพศที่สามจะถูกบังคับให้ใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ เท่านั้น
ความก้าวหน้ารับรองอัตลักษณ์เพศสภาพ
กิตตินันท์ ยังกล่าวถึงกฎหมายอีกฉบับสำคัญคือ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. ….ขณะนี้ในภาคประชาชน โดย สมาคมฟ้าสีรุ้งฯ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และ สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว มีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 29 มาตรา ก่อนเสนอรัฐบาล ขณะที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ชื่อคล้ายกัน เพื่อเตรียมประกบกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้
ส่วนพรรคการเมืองก็เตรียมทำกฎหมายผ่านอนุกรรมาธิการ โดยมีร่างออกมาแล้ว เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามการรับรองเพศสภาพ ซึ่งกฎหมาย 2-3 ฉบับ ที่จะผ่านพรรคการเมืองแต่ละพรรค ผ่านอนุกรรมาธิการ ผ่านกระทรวง พม. หรือกระทั่งภาคประชาชน แทบไม่มีส่วนขัดแย้งเพราะใช้หลักคิดเดียวกัน 3 ข้อ ได้แก่
1.เจตจำนง (ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ได้ดูที่อวัยวะเพศ แต่ดูเจตจำนงว่าต้องการเป็นเพศอะไร แม้จะไม่ได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศก็ตาม)
2.สิทธิมนุษยชน (เกิดมาต้องกำหนดเพศเองได้ในการใช้ดำรงชีวิต)
3.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (กฎหมายจะออกมาทั้งหมด ทั้งกลุ่ม Intersex หรือกลุ่มเพศกำกวมกลุ่มนอน-ไบนารี่ (Non-binary) กลุ่มผู้หญิง-ผู้ชายข้ามเพศ) จุดนี้เป็นความก้าวหน้าทั้งหมด กฎหมายจะไม่เกิดความขัดแย้งหรือเกิดดราม่ากัน เมื่อไปอยู่ในสภา
โจทย์ความหลากหลาย จ่อการบ้านรัฐบาลใหม่
กิตตินันท์ เผยกฎหมายเหล่านี้จะถูกยื่นในรัฐบาลหน้า ซึ่งพรรคการเมืองที่ทำเจตจำนงแถลงนโยบายได้รวมเรื่องนี้เข้าไปต่อกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ ขณะนี้นโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่พรรคการเมืองขานรับมี 5 รายการ คือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ, พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ, พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ, การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งต้องทบทวนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
โดย พม. จะยกเลิกแล้วนำมาอยู่ในกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศฯ แต่ส่วนพรรคก้าวไกลทราบว่าจะทำแนวกฎหมายที่ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ให้กลายเป็น “ถูกกฎหมาย”
ส่วนภาคประชาชนก็มีแนวโน้มว่าจะยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ แล้วให้เข้าสู่กฎกระทรวงของกฎหมายแรงงาน ให้เป็น “แรงงานในระบบ” มีประกันสังคม และจัดสรรหาผู้เชี่ยวชาญมาดูแล ซึ่งกฎหมายค้าประเวณีจะต่างกันเยอะในส่วนของคำว่า “ถูกกฎหมาย” และ “ผิดกฎหมาย”
อาทิ ภาคประชาชนพยายามทำให้การค้าประเวณีไม่ผิดกฎหมาย ส่วนแนวคิดของกระทรวง พม. คือ ให้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ให้เข้าสู่กระบวนการที่มีการคุ้มครอง โดยไม่ต้องจดทะเบียน ขณะที่พรรคก้าวไกลให้ถูกกฎหมาย โดยตีทะเบียนคล้ายแนวคิดของเยอรมนี
“ท้ายสุดหากสังเกตให้ดี ทุกการขับเคลื่อนของกฎหมายหลายตัว จะมีเรื่องของกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นฐานรากและเป็นแรงบันดาลใจอยู่ในนั้น ซึ่งกฎหมายก็ครอบคลุมไปถึงชายหญิงทั่วไปด้วย” กิตตินันท์ ทิ้งท้าย
สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/2197669/