UPDATE: ม.มหิดล เพิ่มทางเลือกตรวจเอชไอวีออนไลน์ ใช้วิดีโอคอลและชุดตรวจแบบ Rapid Test ขั้นตอนไม่ซับซ้อน รู้ผลเร็ว ตรวจยืนยันผลได้
.
เนื่องด้วยวันที่ 1 ธันวาคมที่กำลังจะถึงนี้เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ซึ่งโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ตั้งเป้าหมาย ‘90-90-90’ ให้ภายในปี 2573 ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 90% ได้รับการวินิจฉัย, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 90% ได้รับการรักษา และผู้ติดเชื้อ 90% มีภูมิต้านเชื้อเอชไอวี
.
รศ.ดร.โธมัส กวาดามูซ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ และหัวหน้าหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเอชไอวีที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศชายด้วยกันในกรุงเทพมหานครติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่รู้ตัว ด้วยอุปสรรคปัญหาทางสังคมมักพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวียังประสบปัญหาการถูกตีตราหรือถูกเลือกปฏิบัติ จึงทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศไม่กล้าไปเข้ารับการตรวจตามสถานพยาบาลด้วยวิธีปกติ
.
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จึงได้เสนอโครงการให้บริการตรวจเอชไอวีผ่านช่องทางออนไลน์ โดยทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลเข้ามาช่วยให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถตรวจเอชไอวีได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้ชุดตรวจแบบรู้ผลทันที (Rapid Test) และยืนยันผลโดยให้กลุ่มตัวอย่างส่งกระดาษซับเลือดไปยังศูนย์วิจัยทางคลินิก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจยืนยันทางคลินิก ซึ่งผลจากการทดสอบพบว่าวิธีการตรวจออนไลน์ด้วยตัวเองดังกล่าวได้รับความสนใจจากเยาวชนชายกลุ่มเสี่ยง และส่งผลตรวจได้ตามขั้นตอนที่แนะนำผ่านระบบออนไลน์
.
รศ.ดร.โธมัส กล่าวเพิ่มเติมว่าการตรวจออนไลน์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองที่บ้านในขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนและใช้เวลาไม่นาน ที่สำคัญคือไม่ต้องออกไปตรวจข้างนอก ซึ่งในบางรายอาจเกิดความไม่มั่นใจจนเปลี่ยนใจกลับบ้านโดยไม่ได้รับการตรวจ โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้มีความเสี่ยงสู่การบรรลุเป้าหมาย UNAIDS 90-90-90
.
นอกจากนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคเอชไอวี จากผลงานของ ศ.พ.ญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิก และรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคเอชไอวีจนนำไปสู่การศึกษาครั้งแรกของโลก ที่มีหลักฐานบ่งชัดว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคเอชไอวีมีความเป็นไปได้ และยังคงมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง