ข่าวสาร M-CAB
LGBTQ ขอสิทธิ “สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่แค่ “จดแจ้งคู่ชีวิต”
LGBTQ ขอสิทธิ “สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่แค่ “จดแจ้งคู่ชีวิต”
ในสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การสมรสถูกจำกัดไว้แค่หญิงและชาย จะดีกว่าไหมถ้าเปิดโอกาสให้“สมรสเท่าเทียม” เพื่อพวกเขาจะได้มีสิทธิตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ผ่านพ้นวันวาเลนไทน์มาแล้ว ในปีนี้มีกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นั่นก็คือ การจดทะเบียนสมรสของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 วันวาเลนไทน์ สำนักงานเขตบางขุนเทียนได้จัดงาน จดแจ้งความรัก ให้กับคู่รัก LGBTQ+ โดย ดร.พงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตบางขุนเทียน กล่าวว่า
“แคมเปญ “จดแจ้งความรัก” สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ภายใต้งาน THE CANDEL OF LOVE หรือ “บางขุนเทียน แสงเทียนแห่งรัก” ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เขตบางขุนเทียน ให้แสงเทียนส่องนำชีวิตคู่ เพื่อเป็นพื้นที่ให้กลุ่ม LGBTQ+ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
กลุ่ม LGBTQ+ มีจำนวนไม่น้อยในสังคม มีความสามารถเช่นเดียวกับคนทั่วไป จึงต้องการให้สังคมหันกลับมาให้ความสำคัญ แคมเปญนี้จะช่วยสนับสนุนให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ
ใน ใบจดแจ้งความรัก มีลักษณะหลักเช่นเดียวกับ ใบทะเบียนสมรส คือ มีชื่อ สกุล ของทั้งสองฝ่าย ระบุวันที่จะแจ้งความรัก และลายเซ็นของนายทะเบียน ผอ.เขตบางขุนเทียน แต่มีหมายเหตุเล็กๆ กำกับว่า เป็นกิจกรรมของสำนักงานเขตบางขุนเทียน โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ”
วันวาเลนไทน์ในปีนี้ สำนักงานเขตบางขุนเทียนมีสถิติใหม่ มีคู่รัก LGBTQ+ มาลงทะเบียนจดแจ้งความรัก 269 คู่ และมีคู่รักหญิง-ชายมาจดทะเบียนสมรส 159 คู่
Cr.เพจสมรสเท่าเทียม Marriage Equality
- จดแจ้งคู่สมรสเพศเดียวกัน ไม่มีผลทางกฎหมาย
การจัดกิจกรรม “จดแจ้งสมรสคู่รักเพศเดียวกัน” ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียนจัดขึ้น บางคนบอกว่า ไม่มีประโยชน์อะไร แต่บางคนมองว่า แม้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็ยังดีที่สังคมกำลังปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ อาจต้องใช้เวลานาน แต่ก็ยังดีที่มีคนเริ่ม
อภิญญา ผดุงโชค อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่า กิจกรรมนี้ช่วยเปล่งเสียงของ LGBTQ+ ให้ดังขึ้น
“คนเรามีสิทธิที่จะสมรสได้กับทุกเพศ ไม่ได้มีแค่คู่หญิง-ชาย ส่วนในรัฐสภาที่ได้อภิปรายเรื่องสมรสเท่าเทียม เขาอาจรับพิจารณา แต่ก็เหมือนเอาไปดองไว้ ประเทศไทยมีคนหลากหลายทางเพศเยอะ และมีความประสงค์อยากจดทะเบียน เพื่อใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันได้เหมือนคู่ชาย-หญิง กิจกรรมนี้เป็นแรงกระเพื่อมให้ที่อื่นอยากทำด้วย
สิทธิที่คู่สมรสเพศเดียวกัน ควรเหมือนคู่สมรสทั่วไปทุกประการ เท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิเสรีภาพ ครอบครัว การตั้งถิ่นฐาน ระบบประกันสุขภาพ เคยมีเคสหนึ่ง หญิงข้ามเพศ แฟนปวดท้องมากต้องผ่าตัดไส้ติ่ง เข้าโรงพยาบาล คนที่เซ็นต้องเป็นคนในครอบครัวเท่านั้น และติดต่อครอบครัวไม่ได้ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่ใช่คู่สมรสกัน
ถ้ารัฐฯ ยอมรับเปิดมุมมองเรื่องนี้ก็น่าจะผ่านตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะคนไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้มาเกือบสิบปี ต่างชาติเขาก็ออกกฎหมายให้สมรสระหว่างเพศเดียวกันได้แล้ว อยากให้ทุกเพศได้สิทธิขั้นพื้นฐาน”
Cr.เพจสมรสเท่าเทียม Marriage Equality
- ภาคีสีรุ้งจัด “สมรสเท่าเทียม” ทั้งแผ่นดิน
ในวันวาเลนไทน์ 2565 กลุ่มภาคีสีรุ้งได้จัดกิจกรรม # สมรสเท่าเทียม ทั้งแผ่นดิน ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร โดย ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี และแฟน ได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส ที่สำนักงานเขตบางรัก
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางรัก บอกให้ฟ้าและแฟนกรอกเอกสารคำร้องขอจดทะเบียนสมรส หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้เขียนว่า ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสแล้ว ทั้งสองฝ่ายเป็นเพศชาย จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะจดทะเบียนสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดให้ชายและหญิงเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้
ในเรื่องนี้ ฟ้า พรหมศร กล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนไทยผู้เสียภาษี เราได้เรียกร้องทวงสิทธิอันชอบธรรมมาตลอด
“ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิ่งที่ฟ้าทำกับแฟนไม่ได้นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ แต่เรากำลังทำให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น การจดทะเบียนสมรสของคู่รักไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ใช่การแสดงออกความรักในวันวาเลนไทน์เพียงอย่างเดียว
แต่มันคือสิทธิในการดูแลรักษาคนที่เรารักเมื่อถึงเวลาฉุกเฉิน การจดทะเบียนสมรสนำพามาซึ่งการดูแลซึ่งกันและกัน วันนี้เป็นก้าวแรกเพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นว่า ความรักไม่จำกัดเฉพาะใคร ความรักเป็นสิ่งงดงามที่สุดในโลก ความรักนำพามาซึ่งทุกอย่าง ขอให้ทุกคนมาร่วมกันลงชื่อเสนอ #สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน ในเว็บไซต์ https://www.support1448.org
Cr.เพจสมรสเท่าเทียม Marriage Equality
- ความรักไม่จำกัดเพศ
ในหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญแก้กฎหมายให้มีการสมรสกันได้ทุกเพศ ประเทศไทยเองในสายตาชาวโลกมองว่า เปิดกว้างเรื่องเพศ แต่กลับไม่มีกฎหมายรองรับพวกเขาเหล่านั้น
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา พรบ.สมรสเท่าเทียม หรือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่ปี 2563 มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับร่างสมรสเท่าเทียม ที่ภาคประชาชนออกมารณรงค์เมื่อปลายปี 2564
ผลปรากฎว่า มีผู้ลงมติ 350 คน โหวตเห็นด้วย 219 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
โดยสภาฯอนุมัติให้ครม. นำ พรบ.สมรสเท่าเทียม ไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน ถือว่าเป็นการแขวนค้างไว้อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพ้นเวลา 60 วัน ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณา อภิปรายร่างกฎหมาย และลงมติในวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
Cr.เพจสมรสเท่าเทียม Marriage Equality
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนำเสนอว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่มากกว่าผู้อื่น เป็นสิทธิที่เราต้องมีอยู่แล้ว
“เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลแพ่งและพาณิชย์หลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคสาม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องเพศ จึงเสนอให้มีการแก้ไขดังนี้
1.แก้ไขให้ชายหญิงหรือบุคคลสองคน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้น สมรสกันได้ตามกฎหมาย
2.แก้ไขเพิ่มเติมหมวดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและคู่สมรส และกำหนดให้ตัดคำว่าสามีและภริยา และให้เพิ่มคำว่าคู่สมรส
3.ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ซึ่งบุคคลสองคนสมรสกัน มีสิทธิ หน้าที่และความคุ้มครองตามกฎหมาย
4.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 4 จากเดิมทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา เป็นทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
5.เรื่องสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน
6.เรื่องการสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาดจากการสมรส การจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทน ค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส
7.ให้คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
8.กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ฆ่าคู่สมรส กำหนดให้เป็นผู้ถูกจำกัดมิให้รับมรดก
9.คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายหรือคู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกทางกันโดยมิได้หย่าร้างตามกฎหมาย มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิต
การที่ชายหญิงตัดสินใจสร้างครอบครัว และจดทะเบียนสมรสใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมีสิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้
กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นการเรียกร้องมากกว่าผู้อื่น แต่กลุ่ม LGBT กำลังบอกผู้มีอำนาจว่า พวกท่านพรากสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวจากพวกเราไป”
ที่ผ่านมา วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 กลุ่ม ภาคีสีรุ้ง และเครือข่าย 43 องค์กร ได้จัดกิจกรรม สมรสเท่าเทียม ที่แยกราชประสงค์ ทำให้ แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่า 296,418 ราย (ณ วันที่15 กุมภาพันธ์ 2565) ในเว็บไซต์ https://www.support1448.org/