บทความของ M-CAB
“ตรา” โควิด-19 ที่ถูก “ตี”
“ตรา” โควิด-19 ที่ถูก “ตี”
In Focus
- เมื่อโควิด-19 เป็นโรคใหม่ ทำให้มีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ประกอบกับเรามักกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เกิดเป็นความสับสน ความวิตกกังวล และความหวาดระแวงตามมาจนเราอาจตีตรา (social stigma) จนนำไปสู่การเหมารวม การเลือกปฏิบัติ การปฏิบัติแยกจากคนอื่น
- ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่ระยะผ่อนปรนมาตรการการควบคุมโรค โดยที่รัฐบาลบอกว่าหากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะกลับมาเข้มงวดอีก การควบคุมโรคจึงมีนัยของการลงโทษแฝงอยู่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ในระยะนี้ถูกตีตราว่าทำให้คนในพื้นที่ต้องพลอยถูกทำโทษไปด้วยได้ และความกลัวที่จะถูกตีตรานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่เข้ามารับการตรวจ และเมื่อตรวจพบแล้วญาติก็จะได้รับแรงกดดันทางสังคมเพิ่มขึ้นได้
- องค์การอนามัยโลกแนะนำวิธีการแก้ปัญหาการตีตราทางสังคมไว้ 3 ข้อ ได้แก่ (1) การเลือกใช้คำ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียกที่เชื่อมโยงกับสถานที่หรือกลุ่มคน (2) การมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการรักษาโควิด-19 รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อ (3) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการระบาดของข่าวลือ และสร้างความสมัครสมานในสังคม
“เขามองป้าเหมือนเป็นตัวประหลาด” คุณป้านั่งอยู่หน้าบ้านของตัวเองเหมือนอย่างเคย เพราะก่อนหน้านี้เคยเปิดเป็นร้านขายของชำ แต่ใครที่สัญจรผ่านไปมากลับหันมามองป้าด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากมีสมาชิกภายในบ้านป่วยเป็นโควิด-19 คุณป้าซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันจึงจัดเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง ลำพังแค่การมีโอกาสติดเชื้อต่อจากญาติก็สร้างความกังวลใจมากอยู่แล้ว แต่เธอยังกลายเป็นที่รองรับความกังวลของคนทั้งชุมชนด้วยการรับสายจำนวนมากที่โทรศัพท์มาถามว่า “ติดเชื้อแล้วหรือยัง”
โควิด-19 ที่เรารู้จักเป็นโรคทางกายคือเมื่อติดเชื้อไวรัสเข้าไปแล้วจะทำให้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือหายใจเหนื่อยจากภาวะปอดอักเสบ แต่บางครั้งโรคนี้ก็ส่งผลถึงความป่วยไข้ทางจิตใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยและญาติ หรือเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งเป็นผลมาจากการตีตราทางสังคม
การตีตราทางสังคม
ย้อนกลับไปต้นปี 2563 โรคปอดอักเสบรุนแรงโรคหนึ่งยังไม่มีชื่อเรียก ตอนแรกสุดเรายังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่าโรคนี้เกิดจากเชื้ออะไร สัปดาห์ต่อมาถึงรู้ว่าเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าเชื้อนี้ติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่ สัปดาห์ถัดมาจึงมีการยืนยันว่าโรคนี้เกิดการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ โดยผ่านละอองน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะเหมือนไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่น ทว่าตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าโรคนี้สามารถแพร่เชื้อในขณะที่ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการได้หรือไม่ จนกระทั่งในอีก 1-2 เดือนถัดมาถึงมีการยืนยันคุณสมบัตินี้
ในเมื่อโควิด-19 เป็นโรคใหม่ ทำให้มีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ประกอบกับเรามักกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เกิดเป็นความสับสน ความวิตกกังวล และความหวาดระแวงตามมาจนเราอาจตีตรา (social stigma) หรือเชื่อมโยงลักษณะบางอย่างเข้ากับการระบาดของโรค ทำให้เกิดการเรียกชื่อแบบดูแคลน การเหมารวม การเลือกปฏิบัติ การปฏิบัติแยกจากคนอื่น หรือการสูญเสียสถานะบางอย่างจากการรับรู้ความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น โดยการตีตราด้วยโควิด-19 เกิดขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม จนถึงระดับประเทศ
นักท่องเที่ยวชาวจีน น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกตีตรา เพราะจุดศูนย์กลางการระบาดช่วงมกราคม 2563 อยู่ในประเทศจีน เกิดความกลัวว่าจะติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ทำให้ร้านอาหารบางร้านติดป้ายว่า “ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน” หรือโรงแรมบางแห่งก็ไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าพัก
การสอบสวนโรคในช่วงนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอย่างกรณีครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ผมรับผิดชอบอยู่ เมื่อเจ้าของที่พักทราบว่าเป็นครอบครัวของผู้ป่วยก็ไม่อนุญาตให้อยู่ต่อ จนต้องหาที่พักแห่งใหม่ให้ซึ่งก็ต้องอธิบายให้โรงแรมแห่งที่สองเข้าใจว่าญาติกลุ่มนี้อยู่ระหว่างการสังเกตอาการ 14 วัน
ผู้ป่วย ช่วงแรกเป็นชาวจีนจึงไม่ได้ยินเรื่องการตีตรามากนัก เมื่อรักษาหายก็จะเดินทางกลับประเทศของเขาทันที แต่ต่อมาเมื่อมีชาวไทยป่วยเพิ่มขึ้น ผมก็ได้ยินจากทีมสอบสวนโรคทีมอื่นว่าผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม เพราะเพื่อนร่วมงานกังวลว่าจะติดเชื้อจากเขา ทั้งที่ผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) แล้วก็ตาม หรือบางรายก็ถูกไม่ให้เข้าพักในคอนโดได้เหมือนเดิม เพราะผู้อาศัยในคอนโดเดียวกันกลัวว่าจะติดเชื้อ ทั้งที่โควิด-19 ไม่ใช่โรคติดเชื้อเรื้อรัง เมื่อหายป่วยแล้วก็จะไม่แพร่เชื้อ ซึ่งน่าจะคล้ายกับเมื่อก่อนที่เราเคยรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ในปัจจุบันเราก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้โดยมีการป้องกันตัวอย่างเข้าใจ
ญาติผู้ป่วย น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนตัวผู้ป่วย เพราะยังไม่ใช่ผู้ติดเชื้อที่จะได้รับรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่แรก แต่เป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงที่จะต้องแยกตัวสังเกตอาการ 14 วันที่บ้าน ซึ่งแวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านและคนในชุมชน อย่างกรณีคุณป้าท่านหนึ่งที่เล่าถึงในตอนต้นบทความว่าเธอรับรู้ได้ถึงความรังเกียจของคนในชุมชน เพราะคนในบ้านหลายคนติดเชื้อ (ผู้ป่วยรายหนึ่งติดเชื้อจากการนอนโรงพยาบาล ส่วนญาติคนอื่นติดจากการไปเยี่ยมผู้ป่วย) ส่วนคุณป้ายังไม่มีอาการและได้รับการตรวจหาเชื้อครั้งแรกแล้วว่าไม่พบเชื้อ
ผมเข้าใจว่าสายตาที่มองคุณป้าเป็นตัวประหลาดนั้นน่าจะเกิดจาก ‘ความกลัว’ –กลัวว่าบ้านนี้จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค เพราะมีผู้ติดเชื้อหลายราย หรือ ‘ความไม่มั่นใจ’ ว่าคุณป้าจะแพร่เชื้อให้กับตนเองได้หรือไม่ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย (ถ้ามีโอกาสน่าจะต้องคุยกับคนในชุมชนอีกที) ทั้งที่ทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ และผู้ป่วยซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถูกแยกโรคออกจากชุมชนไปแล้ว ส่วนภายในบ้านและรอบบ้านก็น่าจะได้รับการทำความสะอาดจากเจ้าหน้าที่ ชุมชนจึงสามารถมั่นใจได้ว่าบ้านหลังนี้จะไม่เป็นแหล่งของเชื้อโรค ส่วนคุณป้า ยังเป็นเพียง ‘ผู้สัมผัส’ ซึ่งเมื่อสังเกตอาการต่อจนครบ 14 วันก็จะมีโอกาสเป็นได้ทั้ง ‘ผู้ป่วย’ และ ‘ผู้ที่ไม่ป่วย’ ดังนั้นจึงไม่ควรเหมารวมว่าญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยทุกคนจะเป็นผู้ที่สามารถแพร่เชื้อได้ อีกทั้งถ้าคนรอบข้างปิดช่องทางการได้รับเชื้อ ได้แก่ การสวมหน้ากากผ้าเวลาออกจากบ้าน และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร (ป้องกันการสูดละอองน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะ) การล้างมือบ่อยๆ และการไม่เอามือมาจับบริเวณใบหน้า (ป้องกันการสัมผัสละอองเหล่านั้นทางอ้อม) ก็จะมั่นใจได้ว่าไม่มีทางติดเชื้อจากผู้อื่น
ทั้ง 2 สาเหตุนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผมเท่านั้น เพราะการตีตราที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ เหมือนอย่างที่พี่พยาบาลประจำ รพ.สต.แห่งหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าการตีตราผู้ป่วยในชุมชนของตนเองอาจเป็นผลมาจากการเมืองท้องถิ่น เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ฝั่งตรงข้ามใช้เป็นเหตุผลในการลดความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทั้งระดับตำบล อำเภอและจังหวัดเห็นตรงกันว่าหน่วยงานส่วนกลาง เช่น กรมควบคุมโรค หรือโฆษก ศบค. น่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย
การตีตราที่อาจเกิดขึ้น
ครั้งหนึ่งเคยมีการตีตรานักท่องเที่ยวชาวจีนมาแล้ว พอมีการระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ แรงงานผิดกฎหมายที่เดินทางกลับมาก็ถูกตีตราเช่นกัน (จากทั้งความความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและความเป็นผีน้อย) ครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ ก็เคยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างจนต้องประกาศให้ผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาทุกคนกักตัวสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 14 วัน ในแง่หนึ่งก็เพื่อการควบคุมโรค แต่อีกแง่หนึ่งก็เกิดการตีตรากรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากความกลัวถูกแสดงออกมามากกว่าการป้องกันตัวที่เหมาะสม
ภาพแผนที่ประเทศไทยที่ระบายสีแต่ละจังหวัดตามระยะเวลานับจากวันที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายก็เช่นกัน ในแง่หนึ่งเป็นการแสดงข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าผู้ป่วยกระจายอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง และแต่ละจังหวัดอยู่ในระยะใดของการระบาด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ทำให้เกิดการเหมารวมประชาชนในจังหวัดสีแดงนั้นว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ทีมสอบสวนโรคที่เพิ่งกลับมาจากต่างจังหวัดเล่าให้ฟังว่าในพื้นที่ถึงกับพูดว่า “นพ. … ห้ามเข้าจังหวัด …” เลยก็มี เพราะโฆษก ศบค. เน้นย้ำชื่อจังหวัดนั้นซ้ำหลายครั้งในการแถลงข่าวประจำวัน
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะผ่อนปรนมาตรการการควบคุมโรค โดยอนุญาตบางกิจการกลับมาเปิดทำการได้ และบางกิจกรรมก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำได้ตามปกติ แต่รัฐบาลก็พร้อมที่จะกลับมาดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดอีกครั้ง หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น การควบคุมโรคจึงมีนัยของการลงโทษแฝงอยู่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ในระยะนี้ไปถูกตีตราว่าเป็นผู้ที่ทำให้คนในพื้นที่หรือในจังหวัดต้องพลอยถูกทำโทษไปด้วยได้ และความกลัวที่จะถูกตีตรานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่เข้ามารับการตรวจ และเมื่อตรวจพบแล้วญาติก็จะได้รับแรงกดดันทางสังคมเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้แต่ละจังหวัดก็อาจไม่รายงานจำนวนผู้ป่วยตามความเป็นจริง ยกตัวอย่าง กรณีโรคไข้เลือดออกที่กระทรวงสาธารณสุขมักจะคาดโทษนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แล้วนายแพทย์ สสจ. ก็มาคาดโทษกับผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนอีกทอดหนึ่งว่าถ้ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจะถูกลงโทษ วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ยอดผู้ป่วยลดลงคือการไม่รายงานโรคไข้เลือดออก แต่เปลี่ยนรหัสการวินิจฉัยเป็นโรคอื่นที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งแนวคิดเช่นนี้นอกจากจะทำให้ข้อมูลระดับประเทศไม่สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่แล้ว ในระดับพื้นที่ก็อาจไม่สามารถควบคุมโรคได้อีกด้วย
ดังนั้นนโยบายการควบคุมโควิด-19 ในช่วงนี้จะต้องระมัดระวังการตีตราที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม จนถึงระดับประเทศ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเตรียมแนวทางแก้ไขผลกระทบตั้งแต่แรก โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำวิธีการแก้ปัญหาการตีตราทางสังคมไว้ 3 ข้อ ได้แก่
(1) การเลือกใช้คำ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียกที่เชื่อมโยงกับสถานที่หรือกลุ่มคน เช่น ช่วงแรกเราเคยเรียกโรคนี้ว่า “โรคปอดอักเสบอู่ฮั่น” แต่ตอนนี้ทุกคนน่าจะเรียก “โควิด-19” แล้ว หรือถ้าเป็นช่วงนี้ก็น่าจะต้องหลีกเลี่ยงการตอกย้ำสถานที่หรือจังหวัดที่เคยเกิดการระบาดในอดีต เช่น สถานบันเทิง สนามมวย และพิธีทางศาสนา
(2) การมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการรักษาโควิด-19 รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น ในระยะนี้จำนวนผู้ป่วยที่ยังอยู่ในโรงพยาบาลลดลงแล้ว อาจมีการนำเสนอความสำเร็จในการรักษาของแพทย์ หรือการดูแลผู้ป่วยหลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
และ (3) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการระบาดของข่าวลือ (infodemic)และ สร้างความสมัครสมานในสังคม (collective solidarity) ซึ่งสำหรับผมแล้วบทเรียนที่สำคัญในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาคือ ‘ความโปร่งใส’ ในการนำเสนอสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ป่วยหรือสถานที่ที่ผู้อื่นอาจสัมผัสกับผู้ป่วย (โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล) ‘ความรวดเร็ว’ ในการชี้แจงข่าวลือโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ และ ‘ความชัดเจน’ ของมาตรการต่างๆ จะสามารถลดความกลัวซึ่งเป็นสาเหตุของการตีตรา และสร้างความร่วมมือของประชาชนได้
ส่วนถ้าท่านผู้อ่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับการตีตราจากโควิด-19 หรือมีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
อ้างอิง
themomentum covid-19-stigmatization
การตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ขององค์การอนามัยโลก