บทความของ M-CAB
“การดูแลระยะใจ” สำคัญอย่างยิ่ง ยามที่มีมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”
“การดูแลระยะใจ” สำคัญอย่างยิ่ง ยามที่มีมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”
“การดูแลระยะใจ” สำคัญอย่างยิ่ง ยามที่มีมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” อย่างเข้มข้น ในการหยุดยั้งวิกฤตโควิด-19 เพื่อไม่ให้ลุกล้ำเข้ามาใน “ระยะสนิทสนม” จนเลยเถิดไปถึง “ระยะส่วนตัว”
ภาพโดย นายพงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ
ภาพคุ้นตาของวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบไทย ๆ ของการรวมกลุ่ม พบปะพูดคุยด้วยรอยยิ้ม และมิตรไมตรีต่อกัน กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปตั้งแต่ต้นปี 2563 เมื่อมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” จากจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สู่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก จนในที่สุดองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นการแพร่ระบาดระยะลุกลามในวงกว้าง (Pandemic) ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม1 ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 มีผู้ป่วยโควิด-19 จาก 199 ประเทศทั่วโลกจำนวน 1,289,380 คน และผู้เสียชีวิต 70,590 คน2 ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งแรงสั่นสะเทือนไปทุกระดับ ทั่วทุกมุมโลก ไม่แยกชนชั้นวรรณะ หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม หลายมาตรการถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายและยาวนาน
“ระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)” เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ถูกนำมาปรับใช้ไปทั่วโลกเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและสกัดกั้นการแพร่ระบาด รวมไปถึงสังคมไทยที่นำมาใช้ด้วยรูปแบบของปฏิบัติการผนึกพลังจากทุกภาคส่วนอย่างเร่งด่วน เช่น การปิดสถานศึกษาและเรียนผ่านออนไลน์ การยกเลิกการประชุม การทำงานที่บ้าน ยกเลิกการนัดหมายหรือการพบปะสังสรรค์ หลีกเลี่ยงการใช้บริการหรือไปในสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัดหรือต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น…หากแต่กลับพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไปจากจุดเริ่มต้นในเมืองหลวงสู่จังหวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และต่อเนื่องเป็นข้อกำหนดในการจำกัดการออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ในระหว่างเวลา 22.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งดูราวกับว่าทุกคนจะมีเวลาได้อยู่บ้านอยู่กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับมีหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญชะตากรรมหลากหลายรูปแบบที่ต้องห่างไกลกัน และจำเป็นต้องห่างเหินกันและกันในภาวะยอมจำนนต่อความรับผิดชอบทางสังคม
ครอบครัวไทยเคยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงและมีความหลากหลายมากขึ้น3 ด้วยเพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางประชากร จากที่เคยมีประชากรวัยเด็กจำนวนมากในอดีต กลายเป็นสังคมสูงวัยที่มีเด็กน้อยลงมากแต่ประชากรสูงวัยกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญมีวัยแรงงานจำนวนมากจากทั่วทุกภูมิภาคได้ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเลือกดำเนินชีวิตและการตัดสินใจเริ่มสร้างครอบครัว ทำให้ผู้ที่ย้ายไปทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครบางคนอาจพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง อยู่กับคู่ หรืออยู่กับเพื่อน ส่วนผู้ที่มีบุตรนั้นอาจพาบุตรย้ายตามไปด้วย หรือปล่อยให้บุตรอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายายในต่างจังหวัดแทน